เขาคิชฌกูฏ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ประตูสู่สวรรค์ เป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท ที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย รีวิวเขาคิชฌกูฏ การเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี
สวัสดี เจอกันอีกตามเคยครับ วันนี้จะมารีวิวตามไตล์ผมเอง ทริปนี้เป็นทริปทำบุญครับ ผมเคยได้ยินเขาเล่ากันว่าถ้าเราได้ขึ้นไปนมัสการ รอยพระพุทธบาท (พลวง) บนเขาคิชฌกูฏ ก็เปรียบเหมือนได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะได้รับกุศลอันยิ่งใหญ่ ประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง และจะเป็นสิริมงคลกับชีวิตอย่างมาก และเชื่อกันว่าหากได้มาขอพรอธิษฐาน ซึ่งขอได้หนึ่งอย่าง จะสมหวังดั่งใจปรารถนา จะทำให้เราสมหวังในสิ่งที่เราขอ ในปีนั้นๆ
:: FOLLOW US ::
Facebook Fan Page : https://goo.gl/xvMCZ4
Instagram : https://www.instagram.com/trip_th/
Twitter : https://twitter.com/TripthTh
Google+ : https://goo.gl/wdvzXg
Website : https://www.tripth.com/
Youtube : https://goo.gl/tA4KH0
Line : http://line.me/ti/p/Ws0lI4s0g2
ปกติรอยพระพุทธบาท บนเขาคิชฌกูฏ จะเปิดให้สักการะปีละ 1 ครั้งเท่านั้น คือช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม แล้วแต่ปีด้วยนะ (แต่ในปี 2559 นี้ คือระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึง 7 เมษายน 2559) ปีละหนึ่งครั้ง นั่นแหละครับถึงอยากไป พลาดปีนี้ต้องรอปีหน้าเลย เราจึงนัดแนะกับครอบครัวว่าจะไปกัน เลยเก็บข้อมูลมาเขียนรีวิวไว้เป็นคู่มือสำหรับคนที่จะไปนมัสการ รอยพระพุทธบาท (พลวง) บนเขาคิชฌกูฏ จะเป็นรีวิวพร้อมทั้งข้อมูล การนมัสการรอยพระพุทธบาท (พลวง) บนเขาคิชฌกูฏ
เขาคิชฌกูฏ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ประตูสู่สวรรค์ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (พลวง) ที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย (ที่ 1050 เมตร จากระดับน้ำทะเล) ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธอย่างมาก ครั้งหนึ่งในชีวิต “ต้องไป” เขาคิชฌกูฏ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ปกติการนมัสการจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี หรือช่วงช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม แต่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลง คือเริ่มระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึง 7 เมษายน 2559 หนึ่งปีเปิดแค่ครั้งเดียว จึงทำให้ผู้คนที่ศรัทธาหลั่งไหลไปนมัสการจำนวนมาก ทั้งกลางวันแหละกลางคืน
การเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ
– รถยนต์ส่วนตัว วิ่งตามถนนสุขุมวิทหรือมอเตอร์เวย์ แล้ววิ่งไปถนนตามสาย 334 (ชลุบรี – แกลง) แล้ววิ่งตามถนนสุขุมวิท มาถึงตำบลหนองคล้า แล้วเลี้ยวซ๊ายไปตามถนนสาย 3322 ผ่านวัดเขาสุกิม เข้าเขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ
แล้ววิ่งตามถนนสาย 3409 จนถึงวัดพลวง ทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ
– โดยรถตู้โดยสาร มีรถไปเขาคิชฌกูฏทุกวัน ในช่วงที่เปิดให้ผู้แสวงบุญเข้านมัสการ รายละเอียดรถตู้โดยสารไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง (เขาคิชฌกูฏ) เบอร์โทรศัพท์รถตู้ไปเขาคิชฌกูฏ
อนุสาวรีย์ (แฟชั่นมอลล์) 092-3608896
หมอชิต (ตู้ 9) 092-6275567 , 061-6488006
กรุงเทพฯ โทร. 084-5669588 , 084-3623440 , 090-8181828
ขนสง จันทบุรี 092-6892471 , 092-8059759
ชลบุรี โทร. 086-344-8233
บางแสน โทร. 086-2405678
ศรีราชา โทร. 090-6786204
อ่าวอุดม โทร. 087-3610033
พัทยา โทร. 084-8921444
เขาคิชฌกูฏ โทร. 089-5454789 , 087-6007668
ราคาสอบถามตามเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ได้เลยครับ
แผนที่เส้นทางไปเขาคิชฌกูฏ
สิ่งที่ควรเตรียมไป
– หมวก (กลางคืนน้ำค้างแรง กลางวันตอนรอเข้าไปนมัสการแดดร้อน)
– กรณีไปกลางคืนควรมีเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือ เสื้อกันหนาว
– ผ้าเช็ดหน้า ไว้เช็ดเหงื่อ
– น้ำดื่ม อาหาร เอาไปเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องเยอะมาก อาหารมีจำหน่ายตามทางเดินขึ้นเขา แต่ราคาจะสูงกว่าหน่อยเพราะการขนส่งลำบาก
– ยาดม ยาหม่อง ยาประจำตัว
– ดอกไม้ ธูป เทียน แผ่นปิดทอง ผ้าสามสี ดอกดาวเรืองและพลอยสีตามวันเกิด (ผ้าสามสี ดอกดาวเรืองและพลอยถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเอาไปได้)
– คาถาบูชารอยพระพุทธบาท จะได้นมัสการอย่างถูกวิธี
สำหรับข้อแนะนำ จะเขียนไว้ด้านท้ายนะครับ
04.30 น.
ออกจากกรุงเทพฯ
ทริปนี้เดินทางโดยเหมารถตู้ แชร์กันคนละ 500 บาท ไปกลับ ออกจากหรุงเทพฯ ตี 4 เพราะไม่ใช่แค่เราที่อยากไป ผู้คนจากทั่วประเทศต่างก็อยากมา บางคนมากลางคืน บางคนมากลางวัน แล้วแต่เวลาที่สะดวก แต่เราเลือกขึ้นกลางวัน เพราะจะได้เห็นวิวทิวทัศน์ด้วย เหตุผลมีแค่นี้ครับ อิอิ
09.30 น.
จุดนั่งรถขึ้นเขาคิชฌกูฏ จุดที่หนึ่ง วัดพลวง จันทบุรี
เดินทาง 5 ชั่วโมง จากรุงเทพฯ เราก็มาถึงวัดพลวง จันทบุรี ขอบอกว่า รถเยอะมาก คนเยอะจริงๆ ที่จอดรถ มีหลายที่ เรามาจอดที่ร้านขายของ ก่อนถึงวัดพลวง 50 เมตร เสียค่าจอด 50 บาท จากนั้นก็เดินไปซื้อตั๋ว เพื่อขึ้นไป บนเขาคิชฌกูฏ เราต้องซื้อตั๋ว 2 รอบเพื่อขึ้นไป รอบละ 50 บาท สักการะรอยพระพุทธบาท (พลวง) บนเขาคิชฌกูฏ รอบแรกซื้อที่วัดพลวง คนละ 50 บาท
เมื่อได้ตั๋วแล้วเราก็ไปรอขึ้นรถ เพื่อขึ้นไปด้านบนเขาคิชฌกูฏ ซึ่งคนเยอะมาก โดยที่ตั๋วจะมีหมายเลข เจ้าหน้าที่เขาจะเรียกตามคิว หรือตามหมายเลขบนตั๋ว คนเยอะมากซึ่งถ้ารอเรียกตามคิวกว่าจะได้ขึ้นคงบ่าย
ผมมีเทคนิคแนะนำเล็กน้อย จากที่สังเกตุ
เมื่อเจ้าหน้าที่เขาเรียกขึ้นรถ จะมาที่ว่างเหลือ ไม่ว่าจะเป็นข้างหน้า หรือด้านหลัง แล้วเขาจะตะโกนบอกว่าว่างกี่ที่ เช่น 1 ที่ , 2 ที่ , 3 ที่ กี่ที่ก็ว่าไป ตอนนั้นรีบวิ่งไปหาเขาขึ้นรถให้เร็วที่สุด ไม่ต้องกังวลเรื่อง คิว จำไว้เลยครับ ทุกคันจะมีที่ว่าง ถ้าบอกว่าขาดกี่ที่ให้รีบขึ้นเลย ไม่ต้องรอไปพร้อมกันครับ เช่นมา 10 คน คันไหนว่างไปก่อนทีละกี่คนก็ได้ แล้วนัดไปเจอกันด้านบน ไม่งั้นรอนาน บางคนมาเช้าได้ขึ้น บ่าย เพราะมัวรอไปพร้อมกัน วิธีนี้ไม่ใช้การลัดคิวนะ ทุกคันนั้นมีที่ว่าง เจ้าหน้าที่เขาจะต้องรีบระบายคนไปให้เยอะที่สุด พอมีที่ว่างเขาก็จะตะโกนบอกเราต้องก็รีบไป จะได้ไม่เสียเวลา
จากตรงนี้รถจะขึ้นเขาชันมาก จับให้แน่นที่สุด
ดูภาพสดๆ ตรวจสอบสภาพอากาศ ภาพสดจากบริเวณวัดพลวง
10.00 น.
จุดนั่งรถขึ้นเขาคิชฌกูฏ จุดที่สอง
นั่งรถจากจุดแรกประมาณสิบกว่านาที เราก็มาถึงจุดพักรถ เราต้องไปซื้อตั๋วอีก 50 บาท เพื่อขึ้นไปต่อ จากตรงนี้การขึ้นก็จะไม่ยุ่งยากเหมือนด้านล่าง เราก็ใช้เทคนิคเดิม ไปรอตรงที่รถจอดรับคน ถ้าเจ้าหน้าที่บอกให้ขึ้นก็รีบเลย อย่ากังวลเรื่องคิว ไม่งั้นรอรนาน
10.15 น.
จุดเดินเท้าขึ้นเขาคิชฌกูฏ
หลังจากนั่งรถขึ้นเขามาประมาณ 10 นาที เราก็มาถึงจุดที่รถไม่สามารถไปได้ และต้องเดินเท้าขึ้นเขาต่อ อีกราว 3 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ชันลัดเลาะไปตามเขาคิชฌกูฏ ขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาท ปัจจุบันมีการทำทางเดินที่สะดวกขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งบางจุดเป็นคอขวดกว่าจะขยับได้ แต่ด้วยแรงศรัทธา จึงทำให้เหนื่อยไม่ได้
ตลอดเส้นทางจะมีจุดพักตลอด มีห้องน้ำ มีของขายตามจุดพัก มีจุดแจกแอมโมเนีย ยาดม ต่างๆ ตลอดเส้นทางจะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง กรณีฉุกเฉินก็จะมีทีมแพทย์และรถพยาบาลมาสแตนบายรอไว้ เราต้องเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ จะไม่ได้ทำให้ช้า
ระหว่างทางขึ้นเขา เราจะเห็นดอกดาวเรือง สีเหลือง ที่ผู้แสวงบุญโปรยไว้ตามทาง มีธูปที่แปะไว้ตามก้อนหิน หรือเกี่ยวไว้กับก้อนหินให้ธูปโค้งงอ มีเงินหรียญ แปะไว้ตามก้อนหิน มีอยู่ตลอดทางที่เราเดินผ่าน ตามทางเราจะเห็นวิวทิวทัศน์ของอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ มีไอหมอกลอยผ่านก็ทำให้เราหายเหนื่อยได้บ้าง
เนื่องจากคนเยอะมากจึงทำให้การจราจรติดขัดตรงทางเดินที่เป็นคอขวด จึงทำให้ใช้เวลานาน ในการระบายผู้คนที่มาแสวงบุญ หลังจากเดินเท้ามา 2 ชั่วโมง เราก็มาถึง
12.00 น.
เขาคิชฌกูฏ
เดินทางเท้ามา 2 ชั่วโมง จริงๆแล้วระยะทางขึ้นเขาแค่ 3 กิโลเมตร ไม่น่าจะใช้เวลานานขนาดนี้ แต่ด้วยคนที่เยอะมาก จึงทำให้กาจราจรติดขัด กว่าจะขยับได้ จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน
บนนี้จะมี จุดรอยเท้าเสือสมิง ศาลพระเจ้าตากสิน บนนี้จะมีหินรูปทรงต่างๆ เยอะแยะไปหมด และเราก็จะผ่านประตูสวรรค์ เข้าไปยังจุดนมัสการรอยพระพุทธบาท
13.00 น.
นมัสการรอยพระพุทธบาท (พลวง)
หลังจากขึ้นมาถึงด้านบนแล้ว เราก็จะเจอรอยพระพุทธบาท และหินลูกพระบาทขนาดใหญ่ ที่เป็นสัญลักษณ์ของเขาคิชฌกูฏ ซึ่งมีผู้แสวงบุญจำนวนมารอคิวเขาไปเพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท และเราต้องรอคิว กว่าจะได้เข้ามานมัสการยืนรอเกือบชั่วโมง (อันนี้แล้วแต่วันนะ) การนมัสการนั้นต้องทำให้ถูกวิธี เรามาไกลกว่าจะขึ้นมาถึงทำให้ถูกวิธีจะได้ไม่เสียเที่ยวผมเลยเอาคาถาบูชารอยพระพุทธบาทมาให้ด้วย
คาถาบูชารอยพระพุทธบาท
ตั้งนะโม 3 จบ
อิมัง พุทธปาทัง สัจจะ คาระเวนะ วันทานะ นะมามิหัง
ทุติยัมปิอิมัง พุทธปาทัง สัจจะ คาระเวนะ วันทานะ นะมามิหัง
ตติยัมปิอิมัง พุทธปาทัง สัจจะ คาระเวนะ วันทานะ นะมามิหัง
เมื่อกล่าวถึงบทบูชารอยพระพุทธบาทจบแล้ว ให้ตั้งจิตระลึกถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วกล่าวว่า
“ลูก…….(บอกชื่อ-นามสกุล)…. ขอตั้งจิตอธิษฐาน บุกุศลใดที่ลูกได้ทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ลูกขอถวายบุญกุศลทั้งหมดนั้นบูชาต่อพระรัตนตรัย ด้วยอนิสงค์ผลบุญที่ลูกได้มาสักการะบูชากราบนมัสการรอยพระพุทธบาท
ลูกขอแผ่บุญกุศลนี้ให้กับบิดามารดา ผู้มีพระคุณทุกท่าน ญาติพี่น้องทั้งหลาย ครูบาอาจาร์ยและเหล่าเทพยดาทั้งสิบหกชั้นฟ้าสิบห้าชั้นดิน ทตลอดจนเจ้ากรรมนายเวร ขอให้ท่านที่ลูกระลึกได้ก็ดี ระลึกไม่ได้ก็ดี จงร่วมอนุโมทนาในกุศลนี้ด้วยเทอญ ขอให้ลูกมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ขอเจริญทั้งทรัยพ์ภายนอกและทรัพย์ภายใน ขอให้มีปัญญารู้แจ้งในธรรมมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้……(ขอพรตามความประสงค์) ขอให้สิ่งที่ลูกกล่าวมานี้จงสำเร็จ เป็นจริง เกิดขึ้นจริง ด้วยเทอญ”
หลังจากกล่าวคาถาบูชารอยพระพุทธยาทเสร็จ ก็นำ ธูป เทียน ดอกดาวเรือง พลอยสีตามวันเกิด ไว้วางที่รอยพระพุทธบาท แล้วปิดทองที่รอยพระพุทธบาท และปิดทองที่หินลูกพระบาท ส่วนใครจะขอพรตรงนี้ก็ได้
แนะนำว่าทำให้ถูกวิธี เราขึ้นไปแล้วกว่าจะถึง กว่าจะได้กราบนมัสการ ถ้าทำไม่ถูกวิธีก็สูญเปล่า ด้านบนจะมีคนนำสวด มีคนแนะนำขั้นตอน ผมไม่รู้ว่ามีทุกวันหรือเปล่าเลยเตรียมรายละเอียดไว้ให้
หลังจากกราบนมัสการเสร็จ เราก็นั่งพักให้หายเหนื่อย กว่าจะมาถึง กว่าจะได้เข้าไปกราบนมัสการ เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน จริงๆด้านบนยังมีให้ขึ้นไปอีก นั่นคือ ผ้าแดง ที่เป็นจุดสูงสุดของเขาคิชฌกูฏ แต่เราไม่ได้ขึ้นไป เนื่องด้วยคนเยอะมากกว่าจะไปถึงแล้วกลับลงมา เราเลยตกลงกัน ไม่ขึ้นไป เสร็จแล้วเราก็เริ่มลงจากเขา
13.30 น.
เดินเท้าลงจากเขาคิชฌกูฏ
ในขาลงนั้นจะใช้เวลาไม่นาน เพราะการเดินทางไม่ติดขัด คนไม่เยอะ จึงทำให้เดินได้เร็ว มีเวลาถ่ายรูปชมวิวตามทาง ซื้อของเข้าห้องน้ำ ตามจุดพัก ใช้เวลาเดิน 30 นาที ก็มาถึงจุดที่เราต้องนั่งรถต่อ
14.00 น.
นั่งรถลงเขาคิชฌกูฏ
จากตรงนี้เราก็ซื้อตั๋วเหมือนเดิม คนละ 50 บาท และไปเปลี่ยนรถอีก คนละ 50 บาท เราก็ใช้เทคนิคเดิมครับ หาจังหวะ ตอนเขาเรียก ว่างกี่คนรีบขึ้นเลย นั่งรถ 2 ต่อ เราก็กลับมาถึงวัดพลวง
14.30 น.
วัดพลวง
มาถึงตรงนี้จะมาของฝากขายค่อนข้างเยอะ เช่นผลไม้อบแห้ง ที่เป็นของขึ้นชื่อของ จังหวัดจันทบุรี ขนมอื่นๆ เดินช็อปกันได้เลย ใครที่่จะไปกราบไหว้พระที่วัดพรวงก็แวะตรงนี้ได้เลย
16.30 น.
วัดกระทิง
ก่อนกลับกรุงเทพเราก็แวะมากราบไหว้ พ่อเขียน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ
16.50 น.
เดินทางกลับกรุงเทพฯ
สรุปค่าใช้จ่าย
ค่ารถตู้ VIP เหมาไปกลับตกคนละ คนละ 500 บาท
ค่ารถขึ้นและลงเขา 4 ครั้ง ครั้งละ 50 บาท รวม 200 บาท
ค่าอาหารค่าน้ำ รวมถึงดอกไม้ ธูปเทียนต่างๆ 200 บาท
รวมทั้งทริป ตก คนละ 900 บาท
ข้อแนะนำ
– ควรแต่งกายสุภาพ งดเสื้อสายเดี่ยว กางเกงขาสั้น
– ไม่สูบบุหรี่ ดื่มของมึนเมา
– ไม่ควรหยอกล้อ เล่นกัน เสียงดัง
– ไม่ทิ้งขยะตามทาง
– การขึ้นรถขึ้นเขานั้น ควรรอให้เจ้าหน้าที่เรียกถ้าว่างให้รีบไปเลย
– คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงควรมีคนประกบ
– ไม่ควรใส่รองเท้าเข้าไปบริเวณรอยพระพุทธบาท
– ห้ามนำธูป วางบนรอยพระบาท
– ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม
– ไม่แนะนำให้ที่มีอาการป่วยขึ้นเขา
– ไม่ควรออกนอกเส้นทางที่เจ้าหน้าที่จัดไว้
– ไม่ควรเดินไปใกล้หน้าผาที่อันตราย
– ควรทำการนมัสการรอยพระบาทที่ถูกวิธีจะได้ไม่เสียเที่ยว
– เวลานั่งรถหาที่จับให้แน่น เพราะรถขึ้นเขาชันอยู่ตลอดเวลา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
วัดกะทิง โทรศัพท์ 0 3945 2056
เทศบาลตำบลพลวง โทรศัพท์ 0 3930 9281
อุทยานแห่งชาติ เขาคิชฌกูฏ โทรศัพท์ 0 3945 2074
องค์การบริหารส่วนตำบลพลวง โทรศัพท์ 0 3930 9281
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
– วัดเขาสุกิม
– อุทยานแห่งชาติน้ำตกกระทิง
– น้ำตกพลิ้ว
– ศาลหลักเมือง, ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
– อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล
– ชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร
– โอเอซีส ซีเวิล์ด
– น้ำตกคลองนารายณ์
– อ่าวคุ้งวิมาน
– อู่ต่อเรือบ้านเสม็ดงาม
– ค่ายเนินวง
– หาดเจ้าหลาว
– ตึกแดง
– คุกขี้ไก่
– ถ้ำเขาแก้ว
– ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
– เขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
– ตลาดไทย-เขมร แต่ถ้าไม่พาสปอร์ ข้ามไปไม่ได้นะครับ เพราะเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรแล้ว
ประวัติของรอยพระพุทธบาทพลวง (เขาคิชฌกูฎ)
การพบรอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏจังหวัดจันทบุรี มีการพบโดยบังเอิญของกลุ่มพรานกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีชื่อประกฎคือ นายติ่ง นายนำ นายปลิ่ม นามสกุล สิงขรบาท ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2397 กลุ่มนายติ่ง และคณะได้ขึ้นไปหาของป่า ซึ่งเมื่อขึ้นไปจะต้องไปทำแค้มที่พัก เพราะต้องไปค้างแรมบนเขาครั้งละหลายๆวัน การขึ้นไปครั้งนี้นายติ่งและคณะเกิดหลงป่า พยายามอยู่หลายครั้งก็ไม่สามารถหาทางกลับที่พักได้ และจะออกมาที่เดิมคือบริเวณลานหิน(รอยพระบาทในปัจจุบัน) สมัยนั้นลานบาทไม่ลาดเอียงเหมือนปัจจุบัน ที่สุดนายติ่งและคณะก็นั่งพักและปรึกษากันถึงสาเหตุการหลงป่า ในขณะที่นั่งพักนั้นก็ไปนั่งตรงบริเวณที่เป็นรอยพระบาทในปัจจุบัน สมัยนั้นบริเวณดังกล่าวจะมีหญ้างอกขึ้นในจุดที่เป็นรอยพระพุทธบาท ขณะที่ไปนั่งพักกันนั้น คนในกลุ่มก็ไปเจอแหวนนาคเข้าวงหนึ่ง นายติ่งก็คิดว่าใครเอาของมีค่ามาซุกซ่อนไว้ตรงนี้ จึงช่วยกันค้นหา แต่ก็ไม่พบ จึงมาพิจารณาตรงบริเวณที่นั่ง เห็นมีหญ้างอกขึ้นเพียงจุดเดียว จึงช่วยกันถอนหญ้าและทำความสะอาด หวังจะพบของมีค่าบ้าง แต่ก็ไม่พบของมีค่าอะไร แต่สิ่งที่พบกลับเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ ในขณะนั้นนายติ่งและคณะไม่มีความรู้เรื่องรอยพระพุทธบาท จึงคิดไปว่าน่าจะเป็นรอยท้าวของผู้มีฤทธิ์ จากนั้นก็เกิดความกลัวว่าจะมีโทษเกิดขึ้นไปเพราะไปหยิบเอาของมีค่าเขาออกมา จึงพากันขอขมาต่อรอยเท้านั้น จากนั้นจึงพากันบอกกล่าวขอให้รอยท้าวขอผู้ศักดิ์สิทธิ์นี้จงช่วยดลบันดาลให้ ตนและคณะกลับที่พักได้ด้วยเถิด ซึ่งก็น่ามหัศจรรย์ นายติ่งและคณะสามารถหาทางกลับที่พักได้อย่างง่ายดาย จากนั้นจึงพากันเดินทางกลับลงไปด้านล่างตามปกติ ต่อมาภายหลังนายติ่งและคณะมีลูกหลานที่อายุครบบวช จึงได้พาลูกหลานของตนไปฝากวัด โดยไปฝากที่วัดพลับ ซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองในขณะนั้น(สมัยนั้นยังไม่มีวัดเหมือนปัจจุบัน) พอครบกำหนดงานบวช ก็พาญาติพี่น้องไปร่วมงานบวช การเดินทางในสมัยนั้นจากบ้านพลวงถึงวัดพลับ ต้องใช้เวลาในการเดินทางถึงสองวัน หลังจากไปร่วมงานบวชเสร็จก็ต้องค้างแรมที่วัดพลับนั้น ประจวบกับที่วัดพลับมีการจัดงานบุญประจำปี นายติ่งและญาติพี่น้องก็ไปร่วมงานบุญ และร่วมปิดทองรอยพระบาทจำลอง ขณะที่ปิดทองรอยพระบาทจำลองนั้น ก็พิจารณารอยพระบาทจำลองไปด้วย และก็นึกขึ้นได้ว่าตนเองเคยพบรอยเท้าซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน แต่ที่พบบนเขาจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า จึงพากันปรารภพูดคุยเรื่องที่ตนไปพบรอยท้าวที่บนยอดเขา ที่สุดความก็ทราบไปถึงหลวงพ่อเพชร ท่านพ่อเพชรจึงได้เรียกนายติ่งและคณะเข้าไปสอบถามเรื่องราว ที่นายติ่งได้กล่าวว่า ได้เคยพบรอยพระบาทบนยอดเขา นายติ่งก็เล่าสิ่งที่ตนเองได้พบให้ท่านพ่อเพชรได้ฟัง เมื่อท่านพ่อเพชรฟังแล้วก็จนใจเป็นอย่างมาก จึงได้ปรึกษากับนายติ่งและคณะว่า ถ้าหลวงพ่อและคณะพร้อมเมื่อใดจะนำกันไปหา และขอให้นายติ่งและคณะได้นำท่านพ่อเพชรและคณะเพื่อขึ้นไปบนเขาตรงที่นายติ่ง ได้พบรอยเท้าที่มีความเหมือนกับรอยพระพุทธบาทจำลองของวัดพลับ ต่อมาท่านพ่อเพชรจึงได้นำคณะของท่านไปพบนายติ่ง จากนั้นนายติ่งและพวก ก็นำท่านพ่อเพชรและคณะขึ้นไปบนเขา เพื่อจะไปพิสูจน์ว่าเป็นจริงดังที่นายติ่งได้พูดหรือไม่ เทื่อคณะของนายติ่งนำท่านพ่อเพชรและคณะขึ้นไปถึงยังจุดดังกล่าว และพักผ่อนกันพอสมควรแล้ว จึงเข้าไปสำรวจดูตรงบริเวณดังกล่าว ซึ่งก็น่ามหัศจรรย์เพราะมีหินก้อนใหญ่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่บนแผ่นหินขนาด ใหญ่ จากนั้นก็ไปสำรวจดูที่บริเวณรอยท้าว ท่านพ่อเพชรและคณะได้พิจารณากันอย่างถี่ถ้วน ตามหลักของพระศาสนา ทั้งหมดก็ลงความเห็นว่า เป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน ท่านพ่อเพชรจึงปรารภกับทุกคนว่า เป็นบุญลาภของชาวจันทร์ที่ได้มีสิ่งอันล้ำค่าอย่างนี้ จากนั้นจึงพากันกราบไหว้ ด้วยความปลาบปลื้มใจ
ขอบคุณข้อมูลประวัติของจาก เขาพระบาทพลวง จันทบุรี
เรียบเรียงโดย Rungnakorn
ภาพและข้อมูลโดย TripTH.com