…คนเชียงรายรู้ คนทั้งประเทศรู้ว่าจังหวัดเชียงรายไม่ได้มีดีแค่ภูเขา หรือ ดอย แต่ยังมีวัดวาอารามที่ขึ้นชื่อ มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างก็พากันมาสักการะบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแกชีวิตของตัวเอง เรียกได้ว่าแค่เขาวัดบุญก็จับแล้วจ้า วันนี้จะพาไปวัดไหนนั่น รู้กันตรงนี้เลยค่ะว่าวัดที่เราจะพาไปให้ท่านผู้อ่านรับบุญกันนั้นคือ วัดพระธาตุดอยตุงนั่นเอง เชื่อว่าคนในประเทศไทยเกือบ 100% ต่างก็เคยไปกันมาแล้ว ทางเราก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เราก็ยังเชื่ออีกว่าทุกคนต่างก็มีครั้งที่ สอง ครั้งที่สาม … ตามมาทางเราก็เช่นกันค่ะ วันนี้เลยจะพามาย้อนรำลึก และ มาชักชวนท่านผู้อ่านได้ไปรับบุญกันอีกครั้งค่ะที่วัดพระธาตุดอยตุง…
วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง) หรือที่เรียกกันว่า วัดพระธาตุดอยตุงนั่นเอง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ซึ่งดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 46 กิโเมตร และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเนื่องจากพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 เมตร
วัดพระธาตุดอยตุง เป็นพระธาตุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ จ.เชียงราย ซึ่งมีความเก่าแก่ สวยงาม มองเห็นวิวธรรมชาติของเมืองเชียงรายได้อย่างเต็มตา มีลักษณะเป็นเจดีย์สีทองอร่าม 2 องค์คู่กัน และในฤดูหนาวบรรยากาศรอบองค์พระธาตุจะสวยงามเป็นพิเศษ เพราะถูกหมอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณ
ตามตำนานเล่าว่า วัดพระธาตุดอยตุงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน) พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่พระเจ้าอชุตราชได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ แล้วจึงได้ให้ทำตุง (ธง) มีความยาว 1,000 วา ปักบนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยเจ้ามังรายนราชแห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ เจ้ามังรายนราชจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม นับจากนั้นเป็นต้นมาวัดพระธาตุดอยตุงจึงได้มีเจดีย์สององค์มาจนถึงทุกวันนี้
ตุง นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวล้านนา หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง การมีชัยชนะ ในวัดจะมี รอยปักตุง เป็นรอยแยกบนพื้น ยาวประมาณ 1 ฟุต อยู่ด้านหน้าพระธาตุ เชื่อกันว่า เป็นรอยแยกที่ใช้ปักฐานตุงบูชาพระธาตุ สร้างมาประมาณ 1,000 ปีแล้ว พระบรมธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3
วัดพระธาตุดอยตุงยังเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุประจำคนเกิดปีกุนอีกด้วย วัดพระธาตุดอยตุงเป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย หรือที่เรียกว่า กระดูกไหปลาร้า ของพระพุทธเจ้า ซึ่งนำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน สหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการได้ทั้งปี แต่ก็ไม่ใช่แค่เทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงเท่านั้นที่จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และต่างประเทศที่มานมัสการ มาสักการะบูชา วันธรรมดา วันปกติ ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะบูชาเต็มทั่ววัดพระธาตุดอยตุงอีกด้วย
ทางเราเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปวัดพระธาตุดอยตุง คงยังไม่รู้ประวัติของวัดพระธาตุดอยตุง เหมือนกับเราที่เพิ่งจะรู้ไม่นานมานี้ จึงทำให้เราอยากกลับไปวัดพระธาตุดอยตุงอีกครั้ง การกลับไปวัดพระธาตุดอยตุงในครั้งนี้ที่เต็มไปด้วยความรู้ ประวัติความเป็นมาของวัดพระธาตุดอยตุงแล้ว ทำให้รู้สึกขนลุก แสงบนิ่ง ตั้งใจมอง ตั้งใจพิจาราณาถึงศิลปกรรม สถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุดอยตุงมากยิ่งขึ้น และเราก็เชื่อว่าคุณผู้อ่านก็คงจะรู้สึกแบบเดียวกับเราไม่ต่างกันใช่ไหมคะ…
สำหรับการเดินทางไปวัดพระธาตุดอยตุงมีดังนี้
ใช้เส้นทางเชียงราย – แม่สาย – พระตำหนักดอยตุง ก่อนจะถึงทางแยกเข้าพระตำหนักดอยตุง ให้ตรงไปทางสวนรุกขชาติดอยช้างมูบ จะมีป้ายบอกทางขึ้นวัดพระธาตุดอยตุง ระยะทางจากแยกพระตำหนักถึงวัดประมาณ 7 กิโลเมตร ต้องขับด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีรถสวนลงมาได้ ส่วนระยะทางจากเชียงรายถึงพระธาตุดอยตุงประมาณ 60 กิโลเมตร
โดยเปิดให้เข้าไปนมัสการ สักการะบูชาได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วัดพระธาตุดอยตุง โทร. 053-767-015-7